วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สิ่งคลาคเคลื่อนในเดือนเราะมะฎอน

เรียบเรียงโดย Muslum Hot Report.

โดย อ.มุรีด ทิมะเสน
www.mureed.com


ครั้นพอถึงเดือนเราะมะฎอน มุสลิมต่างพากันเข้าสู่แสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺกันอย่างทั่วหน้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งใดที่ปฏิบัติแล้วได้ผลบุญมากๆ ก็ได้รับการตอบรับอย่างเป็นพิเศษ จากนั้นก็จะปฏิบัติในสิ่งนั้นอย่างทันทีทันใดเนื่องจากหวังผลบุญที่มากมายดังกล่าวนั่นเอง    

กรณีที่มีหลักฐานว่าด้วยผลบุญจำนวนมากหากมุสลิมลงมือปฏิบัตินั้นก็คงไม่มีปัญหาแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่ปัญหาอยู่ตรงที่หากสมมติว่า หลักฐานที่มุสลิมคนหนึ่งได้รับมากลับกลายเป็นหลักฐานที่เฎาะอีฟ (หลักฐานอ่อน) หรือหะดีษเมาฎูอฺ (หลักฐานปลอม) นั่นแหละคือปัญหาที่ใหญ่หลวงนัก เพราะผลพวงดังกล่าวจะอธิบายให้เข้าเกิดความใจที่ถูกต้องกลับต้องใช้เวลาอธิบายค่อนข้างนาน ดั่งตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นหลักฐานที่มุสลิมส่วนใหญ่นึกว่าเป็นหลักฐานที่เศาะหี้หฺ (ถูกต้อง) แต่นัยยะแห่งความจริงกลับกลายเป็นหะดีษเฎาะอีฟ หรือหะดีษเมาฎูอฺ


หลักฐานที่ 1


“ أول شهر رمضان رحمة وأوسطه مغفرة وآخره عتق من النار   

ความว่า ช่วงแรกของเดือนเราะมะฎอน คือความเมตตาช่วงที่สองของเดือนเราะมะฎอน คือการอภัยโทษ และช่วงท้ายของเดือนเราะมะฎอน คือการปลดปล่อยออกจากไฟนรก  สถานะของหะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ ญิดดัน หมายถึงเป็นหลักฐานที่อ่อนอย่างมาก (โปรดอ่านหนังสือ “ ضعيف الجامع   โดยเชคมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลบานีย์ เล่ม 1 หน้า 2135)

            ดังนั้นหะดีษข้างต้นจึงไม่สามารถนำมากล่าวสนับสนุนให้พี่น้องมุสลิมเกิดกำลังใจในการถือศีลอดว่าด้วยผลบุญที่ได้รับในแต่ละช่วงของเดือนเราะมะฎอนได้นั่นเอง 


            หลักฐานที่ 2


              من أفطر يوما من رمضان في غير رخصة رخصها الله له لم يقض عنه صيام الدهر كله و إن صامه  

ความว่า  บุคคลใดที่ละศีลอดเพียงหนึ่งวันในเดือนเราะมะฎอนโดยไม่มีข้อผ่อนผัน ซึ่งเป็นข้อผ่อนผันที่พระองค์อัลลอฮฺทรงผ่อนผันให้ เช่นนี้การถือศีลอดของเขาตลอดทั้งปีก็ไม่สามารถชดใช้การถือศีลอด (ที่ขาดไปหนึ่งวันในเดือนเราะมะฎอน) นั้นได้เลย แม้ว่าเขาจะถือศีลอดเช่นนั้นจริงๆ ก็ตาม  สถานะของหะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ หมายถึงเป็นหลักฐานอ่อน   (โปรดอ่านหนังสือ “ الجامع   โดยเชคมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลบานีย์ เล่ม 4 หน้า 5462) 

อนึ่ง การที่มุสลิมมีความสามารถถือศีลอดได้แต่เขาไม่ยอมถือศีลอด ด้วยเหตุผลใดก็ตาม อีกทั้งไม่ข้อยกเว้นจากศาสนาให้เขาละศีลอด เช่นนี้เขามีความผิดอย่างแน่นอน ในวันกิยามะฮฺ ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงลงโทษเขาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มิได้หมายรวมว่าเขาจะมีโทษแม้กระทั่งว่าหากเขาถือศีลอดตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการทดแทนการถือศีลอดเพียงวันเดียวในเดือนเราะมะฎอนก็ไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างชัดเจน 

 

หลักฐานที่ 3 


“ الصائم في عبادة و إن كان نائما على فراشه  

ความว่า ผู้ถือศีลอดอยู่ในการอิบาดะฮฺ (ตลอด) แม้ว่าเขาจะนอนอยู่บนเตียงนอนของเขาก็ตาม สถานะของหะดีษข้างต้นถือว่า เฏาะอีฟ (โปรดอ่านหนังสือ “ ضعيف الجامع   โดยเชคมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลบานีย์  หะดีษเลขที่ 3530 หน้า 516) 

ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนถึงปัจจุบันนี้ผู้เขียนยังคงได้ยินผู้คนทั้งหลายมักพูดเสมอว่า การนอนของผู้ถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺ ซึ่งคำกล่าวนั้นเป็นคำกล่าวที่เข้าใจผิด เพราะไม่พบหลักฐานที่เศาะหี้หฺมาระบุไว้เช่นนั้น


หลักฐานที่ 4 


“ أفضل الصدقة في رمضان   

 ความว่า การเศาะดะเกาะฮฺในเดือนเราะมะฎอน ถือว่าประเสริฐที่สุด สถานะของหะดีษข้างต้นถือว่า เฎาะอีฟ หมายถึงเป็นหลักฐานอ่อน   (โปรดอ่านหนังสือ “ ضعيف الجامع   โดยเชคมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลบานีย์ เล่ม 1 หน้า 1019)  

โดยพื้นฐานที่มุสลิมได้รับการศึกษามาในอดีตก็เข้าใจมาโดยตลอดว่า การทำบุญในเดือนเราะมะฎอนจะได้ผลบุญมากกว่าเดือนอื่น โดยอาจจะอ่านหลักฐานหะดีษข้างต้นที่ระบุไว้เช่นนั้นจริงๆ แต่ทว่า หะดีษข้างต้นเป็นหลักฐานเฎาะอีฟ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นตัวบทได้นั่นเอง ฉะนั้นก็ให้มุสลิมตั้งใจบริจาค,เศาะดะเกาะฮฺ หรือทำบุญในเดือนเราะมะฎอนด้วยใจที่บริสุทธิ์เท่านั้น ส่วนจะได้ผลบุญเท่าไรนั้นคงเป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น 


หลักฐานที่ 5 


“ لكل شيء زكاة وزكاة الجسد الصوم   

ความว่า ทุกๆ สิ่งมีการจ่ายซะกาตทั้งสิ้น ส่วนการจ่ายซะกาตทางร่างกายนั้น คือการถือศีลอด บันทึกโดยอิบนุ อบีย์ ชัยบะฮฺ สถานะของหะดีษถือว่า เฎาะอีฟ  (โปรดอ่านหนังสือ  “ سلسلة الأحاديث الضعيفة والموضوعة  ” โดยเชคมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลบานีย์  เล่ม 3 หะดีษเลขที่ 1329 หน้า 497)    

 หะดีษข้างต้นก็เช่นเดียวกัน  หากอ่านอย่างผิวเผินจะพบว่าหะดีษข้างต้นไม่เห็นจะมีอะไรที่ขัดแย้งกับหลักการของศาสนาเลยแม้แต่น้อย แต่กระนั้นก็ตาม มุสลิมก็ไม่สามารถที่จะนำหลักฐานที่ไม่เศาะหี้หฺ หรือไม่ถูกต้องมาปฏิบัติ หรือนำมาอ้างอิง ทั้งนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามบรรดาสะลัฟศอลิหฺในอดีตที่พวกเขาเพียงพยายามปฏิบัติหลักการให้สอดคล้องกับแนวทางของอิสลามมากที่สุด หรือแม่นยำ และถูกต้องตามสุนนะฮฺมากที่สุดนั่นเอง (วัสสลาม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น