วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การถือศีลอดจำเป็นสำหรับบุคคลใดบ้าง?

By Muslim Hot Report

muslimhotreport.blogspot.com

          บรรดานักวิชาการลงมติเห็นพ้องว่าบุคคลที่จำเป็นจะต้องถือศีลอดมีดังต่อไปนี้

1. เป็นมุสลิม
     การถือศีลอดวาญิบ (จำเป็น) สำหรับมุสลิมเท่านั้น ส่วนบุคคลที่มิใช่มุสลิม การถือศีลอดไม่วาญิบสำหรับพวกเขา ท่านรศุลุลลอฮฺ (ซล.) กล่าวว่า
"อิสลามถูกสร้างบนพื้นฐานห้าประการ (1) การกล่าวชะฮาดะฮฺ ว่า ลาอิลาฮ่า อิ้ลลัลลอฮฺ ว่าอันน่ามุฮัมม่าดัรฺร่อซูลุลลอฮฺ (2) การดำรงไว้ซึ่งนมาซ (3) การจ่ายซะกาต (4) การประกอบพิธีหัจญ์ (5) การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน"
(หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 8)

     อนึ่ง ส่วนคนต่างศาสนิกที่เข้ารับอิสลามในช่วงกลางของเดือนเราะมะฎอน เช่นนี้เขาไม่ต้องชดใช้การถือศีลอดก่อนหน้านั้น เช่น บุคคลหนึ่งเข้ารับอิสลามในวันที่ 15 เราะมะฎอน เขาก็ไม่ต้องชดใช้การถือศีลอดก่อนหน้าแต่ประการใดทั้งสิ้น
ดังพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
"(มุหัมมัด) จงกล่าวแก่บรรดาผู้ปฏิเสธ ถ้าพวกเขายุติ แน่นอนที่ล่วงไปแล้วจะถูกอภัยแก่พวกเขา"
ศูเราะฮฺอัลอัมฟาล อายะฮฺที่ 38

     ประโยคที่ระบุว่า "ถ้าพวกเขายุติ" มีหลายความหมายซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หากพวกเขายุติการปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะถูกอภัยโทษในความผิดที่ผ่านมา

     อีกทั้งมีผู้คนเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามอย่างมากมายในสมัยของท่านนบีมุหัมมัด ซล. แต่ไม่ปรากฏว่าท่านนบี ซล. สั่งใช้ให้บุคคลใดชดใช้การถือศีลอด, การนมาซ หรือการจ่ายซะกาตแต่อย่างใด (หนังสือ "ฟะตาวัศศิยาม" หน้า 55)

     ส่วนกรณีที่บุคคลหนึ่งรับอิสลามในระหว่างวันของเดือนเราะมะฎอน เช่นนี้จำเป็นสำหรับเขาจะต้องถือศีลอดที่เหลือของวันนั้น โดยวันนั้นเขาไม่ต้องกลับไปชดใช้แต่ประการใด ก็คล้ายๆ บุคคลที่บรรลุศาสนภาวะในระหว่างวันของเดือนเราะมะฎอน เช่นนี้จำเป็นสำหรับเขาจะต้องถือศีลอดที่เหลือของวัน โดยวันนั้นไม่ต้องนำกลับไปชดใช้แต่ประการใด (ซึ่งเป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก)
(หนังสือ "ฟะตาวา เราะมะฎอน" เล่ม 1 หน้า 43)
(หนังสือ "ฟะตาวัศศิยาม" หน้า 55)

     อนึ่ง ส่วนกรณีของสตรีที่สะอาดจากรอบเดือน หรือคนไข้หายป่วยในระหว่างวันของเดือนเราะมะฎอน เช่นนี้ บุคคลทั้งสองไม่ต้องถือศีลอดที่เหลือของวันนั้น แต่วาญิบสำหรับบุคคลทั้งสองจะต้องถือศีลอดชดใช้ในวันอื่น

2. มีสติสัมปชัญญะ
     บุคคลวิกลจริต หรือเป็นคนบ้า เช่นนี้การถือศีลอดไม่วาญิบสำหรับพวกเขา
ท่านรศุลุลลอฮฺ ซล. กล่าวว่า
"ปากกาจะถูกยก (หมายถึงไม่บันทึก) จากบุคคลทั้งสามนี้ (1) บุคคลที่นอนหลับ จนกระทั่งเขาตื่น (2) เด็ก จนกระทั่งเขาบรรลุศาสนภาวะ (3) คนบ้า จนกว่าเขาจะหายเป็นปกติ"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวุด หะดีษที่ 4405

     อนึ่ง กรณีคนบ้า หรือคนวิกลจริตเกิดหายเป็นปกติ เช่นนี้ไม่วาญิบสำหรับเขาจะต้องชดใช้การถือศีลอดที่ไม่เคยถือมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม แม้ว่าเขาจะหายวิกลจริตหลังหมดเดือนเราะมะฎอน หรือระหว่างเดือนเรามะฎอนก็ตาม
(หนังสือ "ฟะตะวัศศิยาม" หน้าที่ 31)

3. บุคคลที่บรรลุศาสนภาวะ
     เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะนั้น การถือศีลอดไม่วาญิบสำหรับพวกเขา อนึ่ง คำว่า "บรรลุศาสนภาวะ" หมายถึง เด็กชายที่ฝันเปียก (ฝันว่ามีน้ำอสุจิเคลื่อน) ส่วนเด็กหญิงที่มีรอบเดือน

     ท่านรสูลุลลอฮฺ ซล. กล่าวว่า "ปากกาจะถูกยก (หมายถึงไม่บันทึก) จากบุคคลทั้งสามนี้ (1) บุคคลที่นอนหลับ จนกระทั่งเขาตื่น (2) เด็กจนกระทั่งเขาบรรลุศาสนภาวะ (3) คนบ้า จนกว่าเขาจะหายเป็นปกติ"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวุด หะดีษที่ 4405

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการถือศีลอดจะไม่เป็นวาญิบสำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ทว่า การฝึกให้พวกเขาถือศีลอดนั้น ก็เป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้กระทำ แม้ว่าเขาจะถือศีลอดได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือ ถือศีลอดได้เพียงครึ่งวันก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็ได้รับกลิ่นอายแห่งการถือศีลอด และปลูกฝังการทำอิบาดะฮฺโดยที่เขาไม่รู้ตัว ดังตัวอย่างของบรรดาเศาะหาบะฮฺในอดีต

นางรุบัยยิอฺ บุตรสาวของท่านมุเอาวิซเล่าว่า
"และพวกเราทำให้เด็กเล็กๆ ของพวกเราถือศีลอด อินชาอัลลอฮฺ และพวกเราไปที่มัสญิด โดยพวกเราทำตุ๊กตาที่ทำมาจากขนสัตว์ให้พวกเขา ครั้นเมื่อเด็กคนหนึ่งร้องไห้อันเนื่องจากหิวอาหาร พวกเราจะให้ตุ๊กตา (ขนสัตว์) นั้นแก่เขา (ทำอยู่แบบนี้) จนกระทั่งได้เวลาละศีลอด"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2725

4. บุคคลที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง
     กรณีบุคคลหนึ่งที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง, เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือชราภาพอย่างมาก ไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่นนี้การถือศีลอดไม่วาญิบสำหรับเขา แต่ทว่าวาญิบเขาผู้นั้นจะต้องทดแทนการถือศีลอดนั้นด้วยการจ่ายฟิดยะฮฺ
พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
"และบรรดาผู้ถือ (ศีลอด) โดยลำบากยิ่ง การชดใช้คือการให้อาหารแก่คนขัดสนหนึ่งคน"
สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ อายะที่ 184

     อายะฮฺข้างต้นระบุถึงบุคคลที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่นนี้ วาญิบสำหรับเขาผู้นั้นจะต้องให้อาหารแก่คนยากจนแทน ในทุกๆ วัน

     อนึ่ง นักวิชาการได้อธิบายอายะฮฺที่ระบุว่า "บรรดาผู้ถือ (ศีลอด) โดยลำบากยิ่ง" หมายถึงบุคคลที่ชราภาพ, คนอ่อนแอ, คนป่วยเรื้อรัง และคนที่ทำงานหนักเป็นประจำ เช่น คนทำงานในเหมืองถ่านหิน หรือคนที่ถูกศาลตัดสินให้ทำงานหนักตลอดชีวิต เป็นต้น

     อายะฮฺข้างต้นยังหมายรวมถึง สตรีตั้งครรภ์, สตรีที่ให้นมบุตร ซึ่งกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง หรือต่อลูกของนาง ก็อนุญาตให้ละศีลอด โดยไม่ต้องถือศีลอดใช้ แต่วาญิบจะต้องจ่ายฟิดยะฮฺ ดังกล่าวข้างต้นเป็นทัศนะของท่านอิบนุอุมัรฺ และท่านอิบนุอับบาส

ท่านสะอีด บุตรของญุบัยร์เล่าว่า ท่านอิบนุอับบาสอ่านอัลกุรฺอาน
"(และบรรดาผู้ถือ (ศีลอด) โดยลำบากยิ่ง การชดใช้คือการให้อาหารแก่คนขัดสนหนึ่งคน) เขากล่าวว่า เป็นข้อผ่อนผันสำหรับคนชรา, สตรีชรา โดยทั้งสองไม่สามารถถือศีลอดได้ ให้ทั้งสองละศีลอด แล้วจ่ายอาหารแทนแก่คนยากจนทุกๆ วัน, ส่วนสตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร หากนางกลัวว่า (ท่านอบูดาวุดกล่าวว่า หมายถึง กลัวมีอันตรายต่อเด็กในครรภ์) เช่นนั้นให้นางละศีลอด แต่ให้จ่ายอาหาร (แก่คนยากจน) แทน"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวุด หะดีษที่ 2320

5. เป็นบุคคลที่มิได้เดินทาง
     บุคคลที่มิได้เดินทางไกล หรือไม่ได้เดินทางไปต่างจังหวัด เช่นนี้วาญิบสำหรับเขาจะต้องถือศีลอด ยกเว้นว่ามีข้อห้ามในประเด็นอื่นๆ ที่ห้ามถือศีลอดสำหรับเขา

พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
"และบุคคลใดเจ็บป่วย หรืออยู่ในภาวะเดินทาง เช่นนั้นเขาจงถือ (ศีลอด) ใช้ในวันอื่นแทน"
สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 185

     อายะฮฺข้างต้นระบุชัดเจนว่าคนเดินทางไกลในช่วงเดือนเราะมะฎแนอนุญาตให้ไม่ต้องถือศีลอด แต่ทว่าวาญิบสำหรับเขาจะต้องชดใช้การถือศีลอดดังกล่าวในวันอื่นแทน ในทางกลับกันบุคคลที่ไม่ได้เดินทางไกลก็จำเป็นจะต้องถือศีลอด ยกเว้นว่าเขาจะอยู่ในเงื่อนไขอื่นที่ห้ามถือศีลอด

     อนึ่ง แม้ว่าศาสนาจะอนุโลมให้ผู้เดินทางไกลไม่ต้องถือศีลอดในระหว่างเดินทาง (แต่ต้องนำไปชดใช้ในวันอื่นแทน) นั้น ทว่า หากผู้เดินทางไกลท่านใดประสงค์จะถือศีลอดขณะเดินทางในครั้งนั้นๆ ศาสนาก็อนุโลมให้กระทำได้เช่นเดียวกัน

ท่านอบูสะอีดเล่าว่า
"ปรากฎว่าพวกเราเดินทางไกลในเดือนเราะมาฎอน ส่วนหนึ่งจากพวกเราถือศีลอด และอีกส่วนหนึ่งมิได้ถือศีลอด ซึ่งผู้ที่ถือศีลอดก็มิได้ตำหนิผู้ที่มิได้ถือศีลอด และผู้มิได้ถือศีลอดก็มิได้ตำหนิผู้ถือศีลอดแต่ประการใด"
หะดีษเศาะหี้หฺ,บันทึกโดยนะสาอีย์ หะดีษที่ 2321

ท่านอบูดัรฺดาอ์เล่าว่า
"พวกเราเดินทางไกลพร้อมกับท่านรสูลุลลอฮฺ ซล. ในช่วงเดือนเราะมะฎอนซึ่งขณะนั้นอากาศร้อนจัดมาก จนกระทั่งว่าพวกเราต้องวางมือบนศีรษะอันเนื่องจาก (ป้องกัน) อากาศร้อนจัด โดยพวกเราไม่ได้ถือศีลอดเลย ยกเว้นท่านรสูลุลลอฮฺ ซล. กับท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของเราะวาหะฮฺเท่านั้น (ที่ถือศีลอด)"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2686

     อนึ่ง เงื่อนไขในการเดินทางไกลนั้น ก็ให้เขาเลือกว่า เขาจะถือศีลอด หรือจะละศีลอด แต่ทว่า หากการถือศีลอดไม่ยากลำบากสำหรับเขา การถือศีลอดถือว่าประเสริฐสำหรับเขา ด้วยเหตุผลที่ว่าท่านรสูลุลลอฮฺ ซล. เคยถือศีลอดขณะเดินทางไกลในช่วงเดือนเราะมะฎอน ทั้งๆ ที่บุคคลอื่นเกิดความยากลำบากสำหรับเขา ส่วนท่านรสูล ซล. และท่านอัลดุลลอฮฺกลับถือศีลอด นั่นย่อมหมายรวมว่า การเดินทางครั้งนั้นอาจไม่เกิดความยากลำบากสำหรับท่านรสูล ซล. และท่านอับดุลลอฮฺก็เป็นได้ หรือแม้ว่าจะเกิดความยากลำบากในการถือศีลอดแต่ที่ท่านรสูล ซล. ถือศีลอดก็เพราะต้องการทำให้รู้ว่า ขณะเดินทางก็อนุญาตให้ถือศีลอดได้เช่นเดียวกัน

6. สตรีที่ไม่มีรอบเดือน
     สตรีที่ไม่มีรอบเดือน วาญิบสำหรับนางจะต้องถือศีลอด แต่ถ้านางมีรอบเดือนนางไม่วาญิบต้องถือศีลอด แต่ถ้าอยู่ในเดือนเราะมะฎอน นางไม่ต้องถือศีลอดเช่นกัน แต่วาญิบสำหรับนางจะต้องนำไปชดใช้ถือในเดือนอื่นแทน

ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า
"ปรากฏว่าพวกเรามีรอบเดือนในสมัยของท่านนบีมุหัมมัด ซล. นั้นท่านนบี ซล. จึงสั่งใช้ให้พวกเราชดใช้การถือศีลอดนั้น"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หะดีษที่ 1739

รายละเอียดเพิ่มเติม
1. กรณีสตรีมีรอบเดือนแล้วหมดประจำเดือนในช่วงกลางวัน เช่นนี้ นางไม่วาญิบจะต้องถือศีลอดที่เหลือของวันนั้น เพราะไม่มีหลักฐานให้กระทำเช่นนั้น แต่การถือศีลอดของวันนั้น วาญิบสำหรับนางจะต้องนำไปชดใช้ในวันอื่นแทน

2. กรณีสตรีมีรอบเดือนแต่เลือดประจำเดือนหมดก่อนเข้าเวลานมาซศุบหฺ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ให้นางเนียตถือศีลอด ส่วนเรื่องการอาบน้ำยกหะดัษ ก็ให้นางอาบน้ำยกหะดัษก่อนเข้าเวลานมาซศุบหฺ หรืออาบหลังเข้าเวลานมาซศุบหฺก็ได้เช่นกัน

3. กรณีนางถือศีลอดมาตลอดทั้งวัน แต่ปรากฎว่าก่อนเข้าเวลานมาซมัฆริบ นางมีรอบเดือน แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก่อนเข้าเวลานมาซมัฆริบก็ตาม เช่นนี้ ถือว่าการถือศีลอดของนางวันนั้นเป็นโมฆะ วาญิบจะต้องถือศีลอดชดใช้ในวันอื่นแทน

4. กรณีนางถือศีลอดมาตลอดทั้งวัน แต่ปรากฏว่า รู้สึกจะมีเลือดประจำเดือนออกมา หรือรู้สึกปวดท้องคล้ายจะมีเลือดประจำเดือนไหลออกมา แต่ทว่ายังไม่พบว่ามีเลือดไหลออกมา จนกระทั่งเข้าเวลามัฆริบ เลือดประจำเดือนจึงไหลออกมา เช่นนี้ การถือศีลอดของนางวันนั้นถือว่าใช้ได้ (โดยนางไม่ต้องชดใช้แต่อย่างใด)

5. ส่วนกรณีสตรีต้องการจะรับประทานยายับยั้งเลือดประจำเดือนในช่วงเดือนเราะมะฎอน เช่นนี้ หากการทานยาดังกล่าวไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย ก็สามารถกระทำได้ แต่ทว่า การไม่ทำสิ่งนั้นย่อมดีกว่า เพราะศาสนาเองก็อนุโลมให้นางไม่ต้องถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน แต่วาญิบให้ไปถือศีลอดทดแทนในเดือนอื่นอยู่แล้ว

7. สตรีที่ไม่มีเลือดนิฟาส
     สตรีที่ไม่มีเลือดนิฟาส วาญิบะต้องถือศีลอด, เลือดนิฟาส หมายถึง เลือดที่ไหลออกมาหลังจากการคลอดบุตร ส่วนหลักฐานและรายละเอียดก็หุก่มเดียวกับเลือดประจำเดือน (ซึ่งกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้)

รายละเอียดปลีกย่อย
1. การถือศีลอดของคนต่างศาสนิก และคนบ้า
     การถือศีลอดเป็นการทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ ฉะนั้นคนที่ไม่ใช่มุสลิมจึงไม่เข้าข่ายให้ถือศีลอด ส่วนคนบ้า หรือคนวิกลจริตนั้นสติปัญญาของเขาไม่มีแล้ว ศาสนาจึงยกเว้นเขาโดยไม่มีข้อบังคับให้เขาถือศีลอดแต่ประการใด

ท่านรสูลุลลอฮฺ ซล. กล่าวว่า
"ปากกาจะถูกยก (ไม่จดบันทึก) จากสามบุคคล (ได้แก่) คนนอนหลับ จนกระทั่งเขาตื่น, เด็ก จนกว่าเขาจะฝันเปียก (บรรลุศาสนภาวะ) และคนวิกลจริต จนกว่าเขาจะมีสติสัมปชัญญะ"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวุด หะดีษที่ 4405

2. การถือศีลอดของเด็ก
     ส่วนกรณีการถือศีลอดแม้ว่าจะไม่จำเป็นสำหรับเด็กๆ ก็ตาม แต่ทว่าการที่ผู้ปกครองใช้ให้เขาถือศีลอดเพื่อฝึกให้เขาเคยชินหากเขามีความสามารถที่จะถือศีลอดได้ ซึ่งบรรดาเศาะหาบะฮฺเคยกระทำกับลูกๆ ของพวกเขามาแล้วในอดีต

นางรุบัยยิอฺ บุตรสาวของท่านมุเอาวิซเล่าว่า
"ท่านนบีมุหัมมัด ซล. ส่งตัวแทนไปยังหมู่บ้านของชาวอันศอรฺในเช้าของวันอาชูรออฺ (โดยเขาประกาศว่า) บุคคลใดในตอนเช้าตรู่ไม่ได้ถือศีลอด เขาจงถือศีลอดที่เหลือของวัน (จนกระทั่งละศีลอด) และบุคคลใดที่เช้าตรู่ถือศีลอด เขาจงถือศีลอดให้ครบวัน, นางเล่าว่า ปรากฏว่าพวกเราถือศีลอดหลังจาก (คำประกาศ) นั้น และกำชับให้เด็กๆ ของเราถือศีลอดด้วย ซึ่งเราทำของเล่นจากขนสัตว์ให้พวกเขาเล่น ครั้นเมื่อเด็กคนหนึ่งในหมู่พวกเขาหิวอาหาร เราก็ยื่นของเล่นให้เขา (ทำเช่นนี้) จนกระทั่งละศีลอด"
หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1960

2 ความคิดเห็น:

  1. หนึ่งในหลักปฏิบัติ 5 ประการที่ มุสลิม ต้องปฏิบัติให้ได้หากยังมีความสามารถ

    ตอบลบ
  2. หากยังมีความสามารถในการปฏิบัติอยู่ อย่าได้พยายามหาเหตุผลมาหักล้างคำสั่งเพื่อให้ตนเองนั้นไม่ต้องปฏิบัติเลย พี่น้องมุสลิมทั้งหลายเอ๋ย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วพวกท่านเองจะถูกสอบสวนในวันกียามะฮฺอย่างแน่นอน

    (ไม่มีใครสามารถตัดสินได้ว่า คุณจะอยู่ในเกณฑ์ผู้ถูกยกเว้นได้เท่ากับพระผู้อภิบาล และพระองค์เท่านั้นที่จะทรงมีอำนาจในการให้อภัยแก่บ่าวของพระองค์)

    ตอบลบ