วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

"โยมมุสลิม นั่นศาสนาอาตมา" ประตูป่า

ศาสนาพุทธ                เมื่อขบวนขันหมากมาถึงประตูบ้านเจ้าสาว ซึ่งด่านแรกนี้จะเป็นประตูรั้ว หรือบางทีออกไปกั้นกันตั้งแต่ปากซอลเลยก็มี จะเข้าไปในบ้านเจ้าสาวได้ อาจต้องผ่านถึง 5 ประตู 7 ประตู แต่ส่วนใหญ่นิยมกันแค่ 3 ประตูเท่านั้นคือประตูชัย ประตูเงิน ประตูทอง หรือประตูนาก ประตูเงิน ประตูทอง
                ด่านแรกที่รั้วบ้านนี้ คนของฝ่ายเจ้าสาว
2 คนจะถือชายผ้านั้นไว้คนละข้าง เรียกว่าปิดประตูขันหมาก เฒ่าแก่หรือนายขันหมากซึ่งมากับเจ้าบ่าวก็จะถามว่า “ประตูนี้มีชื่อว่าอันใด” หรือจะพูดอย่างธรรมดาว่า “ประตูอะไรจ๊ะ” ก็ได้ ผู้ปิดประตูต้องตอบว่า “ประตูชัย” เฒ่าแก่ก็จะให้ซองเงินหรือของชำร่วยแก่ผู้กั้นเพื่อขอผ่าน ของชำร่วยหรือซองเงินนี้ จะมีค่างวดน้อยกว่าที่จะต้องใช้ผ่านประตูเงินและประตูทอง เรียกว่า ของแถมพกอย่างตรี
                บางทีกว่าจะผ่านด่านแรกได้ อาจมีการกล่าวหยอกเย้าต่อรองกันเป็นที่สนุกสนาน เมื่อผู้กั้นยอมเปิดให้ผ่านเข้ามาเขตบ้านแล้ว ก็มาถึงประตูที่
2 คือ ประตูเงิน ซึ่งจะอยู่บริเวณบันได เพราะบ้านทรงไทยสมัยโบราณนิยมสร้างแบบยกพื้นสูง
                การกั้นประตูเงินนี้ จะใช้ผ้าแพรหรือผ้าชนิดดีกว่าที่ใช้กั้นประตูชัย ผู้ที่ถือผ้ากั้นทั้งสองคน ส่วนใหญ่เป็นญาติสนิทของฝ่ายเจ้าสาว เฒ่าแก่จะถามว่า “ประตูชั้นสองนี้มีชื่อว่าประการใด” ผู้กั้นตอบว่า “ประตูเงิน” เฒ่าแก่จึงมอบซองหรือของแถมพกอย่างโทให้เพื่อขอผ่านทาง”
ศาสนาอิสลาม
                การแต่งงานในรูปแบบของอิสลาม เป็นการแต่งงานที่เรียบง่ายไม่มีพิธีกรรมที่ซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย โดยแบ่งรูปแบบออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า “พิธีนิกาหฺ” ซึ่งประกอบไปด้วยวะลีย์ (ผู้ปกครอง) ของเจ้าสาว, เจ้าบ่าว, พยาน (อย่างน้อยผู้ชายสองคน) คำเสนอของวะลีย์ และคำตอบรับของเจ้าบ่าว ส่วนที่สองคือการจัดงาน “วะลีมะฮฺ” หมายถึงการจัดงานเลี้ยงอาหารให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานพิธีนิกาหฺ ซึ่งศาสนาอนุญาตให้จัดงานวะลีมะฮฺในวันเดียวกันกับพิธีนิกาหฺ หรือภายหลังพิธีนิกาหฺก็ได้เช่นกัน
                ดังนั้นเรื่องการมีขันหมากก็ดี การกั้นประตูป่าก็ตาม ล้วนแล้วไม่เกี่ยวอะไรกับพิธีนิกาหฺ หรืองานวะลีมะฮฺเลยแม้แต่น้อย ในสมัยของท่านนบีมุหัมมัด ซล. เองก็ไม่เคยกั้นประตูป่า หรือมุสลิมสมัยหลังที่ท่านรสูล ซล. เสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่ทำพิธีเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ใช่หน้าที่ของมุสลิม หรือไม่ใช่เรื่องที่มุสลิมจะนำการกั้นประตูป่ามาเกี่ยวข้องในงานแต่งงานของมุสลิม ขอย้ำว่า ต้องไม่นำมาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด ไม่ว่านำมาเกี่ยวข้องในพิธีนิกาหฺ หรืองานวะลีมะฮฺก็ตามที
                ครั้นพอเราไปศึกษาเกี่ยวกับการกั้นประตูป่า กลับกลายเป็นประเพณี หรือแนวปฏิบัติของชาวพุทธอีกต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วยิ่งไม่สามารถนำการกั้นประตูป่ามาปะปนกับพิธีนิกาหฺของมุสลิมได้เลยแม้แต่น้อย เพราะแนวความเชื่ออื่นจากอิสลาม ถือว่าถูกปฏิเสธจากพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งการนำสิ่งที่เป็นประเพณี หรือวัฒนธรรมของต่างศาสนิกมาปฏิบัติเท่ากับว่า มุสลิมผู้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนนั้นด้วยดั่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ซล. กล่าวว่า “บุคคลใดที่เลียนแบบชนกลุ่มหนึ่ง ถือว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้นด้วย”
ประเพณีท้องถิ่นนิยม
                มุสลิมบางกลุ่มเวลาจัดงานแต่งงาน (นิกาหฺ) มักจะมีการกั้นประตูป่า ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นฝ่ายเจ้าบ่าวที่ถูกกั้นประตู บางงานประตูป่าก็น้อย บางงานประตูป่าก็มาก ส่วนใหญ่บุคคลที่กั้นประตูป่าก็จะเป็นญาติ หรือเพื่อนๆ ของเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวนั่นแหละ
                ครั้นเมื่อเจ้าบ่าวถูกกั้นประตูป่า ฝ่ายเจ้าบ่าวเอง หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นคนแจกซองให้ ซองก็มีจำนวนลดหลั่นกันไป เช่นประตูแรกๆ จะใส่ซองน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นประตูที่จะเข้าห้องหอก็จะใส่ซองมากหน่อย บางครั้งทำให้เจ้าบ่าวเหงื่อตกได้เหมือนกัน เพราะต่อรองกันนานมาก เผลอๆ อาจต้องให้มากกว่าหนึ่งซอง ซองหนึ่งก็หลายสตางค์
                ส่วนสิ่งที่นำมากั้นเป็นประตูป่า ก็แตกต่างกันไป บางทีก็เป็นเชือกธรรมดา บางทีก็เป็นผ้าชนิดดีๆ และบางทีก็เป็นสร้อยทองคำที่มาขึงยาวกั้นเป็นประตูป่า แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับประเพณี หรือความนิยมของชุมชนมุสลิมนั้นๆ
                บทสรุป ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม ซึ่งตามกิตาบุลลอฮฺ และสุนนะฮฺเป็นหลัก จำเป็นอยู่เองที่มุสลิมจะต้องนำแบบอย่าง และวิถีแห่งอิสลามมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงบนโลกดุนยาใบนี้ หน้าที่มุสลิมต้องเป็นประชาชาติตัวอย่าง นำหลักธรรมแห่งอิสลามมาประกาศก้องบนหน้าแผ่นดิน เพื่อให้ประชาชาติอื่นได้แลเห็นถึงจริยธรรมอันยิ่งใหญ่และวิถีอันงดงามหาที่ใดเปรียบมิได้ สุดท้ายทำให้พวกเขาสรรเสริญ และกล่าวขานถึงจริยธรรมความงดงามเหล่านั้น แม้ว่าพวกเขาจะมิได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามก็ตาม
                ดังนั้น การที่มุสลิมละทิ้งวิถีอันงดงามแห่งอิสลาม แล้วกลับไปยึดวิถีอื่นจากอิสลามมาปฏิบัติ นั่นเท่ากับว่า เราดูถูกการเป็นมุสลิมของเรา หรือเรากำลังจะบอกว่า อิสลามเป็นวิถีที่ไม่ทันสมัย ไม่เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน สู้วิถีของประชาชาติอื่นเค้าไม่ได้ หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ช่าง แต่ทุกครั้งที่เราปฏิบัติตามวิถีของประชาชาติอื่น พึงจำไว้ว่าตัวเรานี่แหละคือส่วนหนึ่งที่ทำลายศาสนาอิสลามของเราเอง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ขอบคุณเนื้อหา อาจารย์มุรีด ทิมะเสน
Present by Muslim Hot Report

1 ความคิดเห็น: