วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"โยมมุสลิม นั่นศาสนาอาตมา" เชิญโต๊ะละแบกินบุญ

ศาสนาพุทธ
ตามธรรมเนียมทั่วไปของคนไทย เมื่อจะมีงานการมงคลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด บรรพชาอุปสมบท แต่งงาน ฯลฯ ย่อมต้องจัดให้มีการทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระร่วมด้วยเสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งยังถือว่า เป็นการสนับสนุนกิจการของพระพุทธศาสนาทางหนึ่งด้วย เพราะพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมาในงานชุมนุมหรืองานประเพณีของชาวบ้าน ย่อมมีโอกาสสาธยายธรรมเผยแพร่วัตรข้อปฏิบัติอันประเสริฐ แก่สาธุชนทั่วไป
ดังนั้น แม้ในงานประเพณีอื่นๆ ที่เป็นอวมงคล เช่น งานศพ งานเกี่ยวกับประเพณีหลังการตาย อันได้แก่ งานทำบุญร้อยวันให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ งานสวดทำบุญกระดูก ฯลฯ ก็มีการทำบุญเลี้ยงพระประกอบด้วยเสมอ
อันพิธีอวมงคลนั้น ตามความหมายก็คือ การทำพิธีให้ร้ายกลับกลายเป็นดี หรือทำให้ความไม่เป็นมงคล เช่นเมื่อมีคนตายในบ้านหลายเป็นสิริมงคล หลังจากทำพิธีทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ
ศาสนาอิสลาม
หากสังเกตศาสนาอิสลามจะไม่กล่าวถึงกลุ่มคนทำพิธีกรรมทางศาสนา เพราะขณะท่านนบีมุหัมมัด ซล. มีชีวิตอยู่ ท่านเองก็ร่วมงานนิกาหฺ งานวะลีมะฮฺ งานศพ อะกีเกาะฮฺ ฯลฯ ไม่พบหลักฐานว่าท่านนบีนำขอพร (ดุอาอ์) หรือทำพิธีกรรมกันเป็นหมู่คณะ หรือแต่งตั้งกลุ่มคนใดเป็นตัวแทนทำพิธีทางศาสนาแทนท่านนบีมุหัมมัด ซล. แม้แต่ครั้งเดียว อาทิเช่น การขอพรในงานวะลีมะฮฺ ท่านก็ให้เหล่าเศาะหาบะฮฺ (มิตรร่วมศรัทธา) ต่างคนต่างขอดุอาอ์ให้แก่คู่บ่าวสาว หรือภายหลังที่ฝังคนตายเสร็จแล้ว ท่านนบีเองสั่งให้คนที่อยู่บริเวณนั้นขอดุอาอ์ให้แก่ผู้ตาย หรือแม้กระทั่งหลังนมาซฟัรฺฎูเสร็จแล้ว ท่านนบีเองก็ไม่เคยร่วมกันขอพรพร้อมกันเป็นหมู่คณะแม้แต่ครั้งเดียว นี่แสดงให้เห็นว่าท่านนบีมิได้กำหนดให้มุสลิมตั้งกลุ่มชนขึ้นมากลุ่มหนึ่งแล้วรับจ้าง หรือรับอาสาทำพิธีกรรมทางศาสนา เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละคนพึงปฏิบัติด้วยตัวเองอยู่แล้ว ส่วนการทำพิธีกรรมทางศาสนาพร้อมกันเป็นหมู่คณะ เช่น เชิญผู้รู้ทางศาสนาอิสลามมาอ่านอัลกุรฺอานพร้อมกัน หรือเชิญมาขอพรพร้อมกันในโอกาศใดโอกาสหนึ่ง หรือในพิธีกรรมใดพิฑีกรรมหนึ่งเหมือนศาสนาพุทธ หรือศาสนาอื่นนั้นไม่มีในอิสลาม
ประเพณีท้องถิ่นนิยม
ส่วนมุสลิมคนใดที่จัดกลุ่มขึ้นมา หรือทำกลุ่มขึ้นมาแล้วอาสาทำพิธีกรรมหรือรับจ้างทำพิธีกรรมแล้วอ้างว่านี่คืออิสลาม ก็เท่ากับว่ากลุ่มคนผู้นั้นได้ไปเลียนแบบประเพณี ธรรมเนียม หรือแนวทางการปฏิบัติของศาสนาอื่นแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องละทิ้งโดยเด็ดขาด โปรดสังเกตดูเถิด หากมีงานกินบุญก็ต้องเชิญโต๊ะละแบ หรือกลุ่มคนที่คอยทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยพวกเขาอ่านกุรฺอานบ้าง ทั้งๆ แนวการปฏิบัติเช่นนั้นก็ไม่มีแบบจากท่านนบีมุหัมมัด ซล. รวมถึงอัลกุรฺอานกับบทขอพร ท่านนบีเองก็ไม่เคยอ่านเฉกเช่นการอ่านของมุสลิมบางกลุ่มบางคนกระทำในยุคปัจจุบัน
อนึ่ง การกระทำบางอย่างกลับไปคล้ายกับทางศาสนาพุทธ อาทิเช่น ความเชื่อทางพุทธที่เชิญพระไปร่วมงานศพเพื่อทำพิธีกรรม โดยทำให้งานมีสิริมงคล ทำเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดี ก็ไม่ต่างจากมุสลิมบางคน หรือบางกลุ่มที่เชิญโต๊ะละแบทำพิธีกรรมอ่านอัลกุรฺอาน และอ่านบทดุอาอ์ที่บ้านคนตาย ทั้งๆ ที่เป็นวันที่ต้องเศร้าโศกเสียใจ แต่กลับเชิญโต๊ะละแบทำพิธีกรรม สุดท้ายลงเอยด้วยการกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ทุกคนปีติยินดีและมีความสุขที่บ้านคนตายกันอย่างทั่วหน้าแล้วอ้างว่านั่นคือความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) นี่แหละที่เรียกว่าเรื่องร้าย (มีคนตาย) ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องดี (ให้โต๊ะละแบมาขออุอาอ์ให้)
สรุป เรื่องเชิญโต๊ะละแบกินบุญ เป็นเรื่องประเพณีที่มุสลิมบางกลุ่มริทำขึ้นเองโดยไปลอกเลียนแบบธรรมเนียมและความเชื่อของชาวพุทธมานั่นเอง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคำสอนของอิสลามเลยทั้งสิ้น

ขอบคุณเนื้อหา อาจารย์มุรีด ทิมะเสน
Present by Muslim Hot Report

http://muslimhotreport.blogspot.com

2 ความคิดเห็น:

  1. บางกลุ่มบางคนหาว่าเราประหยัด,มัทยัสบ้างล่ะ แต่ทำไมไม่คิดบ้างว่าสิ่งที่ทำนั้นมันจะเกิดผลประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง (ลองคิดให้ดีแล้ว)

    ส่วนเรื่องที่คิดว่า "คนตายไปแล้วนั้นจะได้กินอาหารที่เราทำนั้น ขอสักทีเหอะหยุดคิดอย่างนั้นได้แล้ว"

    ตอบลบ
  2. สิ่งที่ควรทำแล้วไม่...สิ่งที่ไม่ควรทำก็ไม่ทำ

    ตอบลบ